เปิดตำรา 5 วิธี เลือกสูทให้เพอร์เฟกต์ที่สุดสำหรับคุณผู้ชาย
การพบปะสังสรรค์ในงานต่างๆ นอกจากทรงผม หรือเครื่องประดับที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีแล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้ชาย ชุดสูทถือว่ามีความจำเป็นมากในปัจจุบัน ซึ่งชุดสูทผู้ชายมักมีการตัดเย็บหลากหลายรูปแบบ เพื่อใช้งานในโอกาสที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงขนาดของสูทก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากอีกด้วย โดยต้องเลือกให้เข้ากับสรีระของตนเอง เพราะหากสูทมีขนาดที่ใหญ่ หรือเล็กจนเกินไป อาจให้ความรู้สึกไม่สมส่วน หรืออึดอัดเวลาสวมใส่ได้ บทความนี้จึงขอพาท่านที่หลงใหลในการแต่งกายด้วยสูทไปรู้จักกับเคล็ดลับวิธีเลือกสูทผู้ชายเพื่อเสริมลุคให้มีเสน่ห์ ดูสง่า และเหมาะสมกับรูปร่างของตนเองให้มากที่สุด
วิธีเลือกสูทผู้ชายส่วนมากมักอิงตามโอกาส และงานที่ไป ดังนั้น เพื่อให้เลือกสูทได้เข้ากับสถานที่ และโอกาสมากที่สุด จึงควรรู้ประเภทของสูทว่ามีแบบไหนบ้าง และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
ชุดสูทสองชิ้น (Two-pieces Suit) ประกอบไปด้วยกางเกง และแจ็กเก็ตสูท ซึ่งทั้งสองชิ้นต้องมีสีเดียวกัน หรือหากมีลวดลายก็ต้องเป็นลายเดียวกันทั้งชุด การออกแบบแจ็กเก็ตสูทนั้นมีทั้งเดินกระดุมแถวเดียว และสองแถว การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับรูปร่างและงานที่ไป โดยสูทสองชิ้นเหมาะสำหรับใส่ในโอกาสต่างๆ เช่น งานพบปะเพื่อน งานแต่งงาน หรือใส่ไปทำงาน เป็นต้น
ชุดสูทสามชิ้น (Three-pieces Suit) ประกอบไปด้วยกางเกง เสื้อกั๊ก และแจ็กเก็ตสูท โดยชุดสูทสามชิ้นนี้ต้องมีโทนสี และลายเดียวกัน ส่วนดีไซน์ของสูทนั้นส่วนมากแจ็กเก็ตสูทมักเป็นกระดุมแถวเดียว ส่วนเสื้อกั๊กด้านในมักนิยมใส่แบบไม่มีปก แต่กระดุมของเสื้อกั๊กมี หรือไม่มีแล้วแต่ความชื่นชอบของผู้สวมใส่ สูทสามชิ้นนิยมใส่ในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น งานพบปะสังสรรค์ธุรกิจ และงานสังคม เป็นต้น
สูททักซิโด้เป็นสูทที่มีความเป็นทางการอย่างมาก และตัวเนื้อผ้ามีความมันวาว ดังนั้น ด้วยความที่เป็นการทาง และโดดเด่นหรูหราเช่นนี้ สูททักซิโด้จึงมักสวมใส่ในงานกลางคืน เช่น งานประกาศรางวัลของนักแสดง หรือแม้กระทั่งงานแต่งงานก็เป็นที่นิยม
นอกจากประเภทที่หลากหลายแล้ว ชุดสูทยังมีดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไปหลายแบบให้เลือกสรรอีกด้วย ดังนี้
สูทดีไซน์แรกที่น่าสนใจคือ สูทแบบกระดุมแถวเดียว (Single-Breasted Suit) โดยมีลูกเล่นเป็นกระดุมที่วางเรียงตัวกันเพียง 1-3 เม็ด ผู้สวมใส่ต้องติดกระดุมเพียงเม็ดเดียวเท่านั้น เมื่อติดแล้วตัวสูทจะไม่มีส่วนที่ทับกัน ส่วนเสื้อที่สวมข้างในควรมีความพอดีกับขนาดตัวผู้สวมใส่ ไม่โคร่ง หรือคับจนเกินไป ซึ่งช่วยทำให้มีรูปร่างที่สมส่วนเพรียวกว่าสูทแบบอื่นๆ อีกทั้งสูทดีไซน์แบบนี้เป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีแบบสำเร็จรูป ไม่จำเป็นต้องสั่งตัดเฉพาะ
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
การเลือกสูทแบบกระดุมแถวเดียว เหมาะสำหรับใส่ออกงานทุกรูปแบบ เช่น ใส่ไปงานเลี้ยง ใส่ไปเที่ยว หรือใส่ทำงาน เป็นต้น
วิธีเลือกสูทผู้ชายตามดีไซน์เพื่อให้โดดเด่นแบบที่สอง คือ เลือกสวมสูทแบบกระดุมสองแถว (Double-Breasted Suit) โดยสูทแบบนี้มีกระดุมประมาณ 4-6 เม็ดแล้วแต่การตัดเย็บ ซึ่งเมื่อติดกระดุมแล้วเสื้อสูทจะทับกันให้ความเป็นทางการมากยิ่งขึ้น
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
สูทแบบกระดุมสองแถวเหมาะสำหรับโอกาสงานที่ดูเป็นทางการ เช่น งานประชุม หรืองานพบปะสังสรรค์ เป็นต้น
สูทดินเนอร์ (Dinner Suit) มักใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง และพอดีกับขนาดตัว ไม่ควรสวมสูทที่รัดจนเกินไปเพราะเมื่อไปงานดินเนอร์ต้องมีการรับประทานอาหาร หากสวมชุดที่รัดแน่นอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
เหมาะสำหรับใส่ไปดินเนอร์ไม่ว่าจะเป็นการดินเนอร์ทางธุรกิจหรือดินเนอร์กับคนรัก
สูทแต่งงาน (Wedding Suit) เป็นสูทที่มีความหลากหลายทั้งดีไซน์และสี ซึ่งขึ้นอยู่กับธีมของงานแต่ง โดยในปัจจุบันมีชุดสูทที่เป็นสีพาสเทลมากขึ้น ทำให้ผู้ที่สวมใส่ดูมีความหวาน ละมุน แต่ยังคงความเนี้ยบไว้อยู่
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
เหมาะสำหรับใส่ไปงานแต่งในฐานะเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว หรือเป็นแขกในงานมงคลสมรสก็ได้เช่นกัน
สูทเลานจ์ (Lounge Suit) เป็นสูทลำลอง ไม่เป็นทางการมากนัก และโทนสีไม่ฉูดฉาด เน้นเรียบ ๆ ใส่ได้ในทุกวัน
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
เหมาะสำหรับการใส่ไปทำงาน หรือใส่ไปเที่ยวกับเพื่อนสนิท
ด้วยความที่นักธุรกิจต้องมีความน่าเชื่อถือ สูทที่สวมจึงต้องเสริมความเข้ม ความเจ้าระเบียบให้เด่นชัด ดังนั้นควรเป็นสูทโทนสีเข้ม และเนกไทไม่ควรเป็นลวดลายที่เด่นชัดจนเกินไป
คาแรกเตอร์ของสูทและการใส่ออกงาน
ชื่อสูทก็บ่งบอกแล้วว่าเหมาะสำหรับงานทางธุรกิจ หรือการประชุมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
จากที่กล่าวมาข้างต้นคงทำให้ทุกคนรู้ว่าสูทมีแบบใดบ้าง และดีไซน์แบบไหนที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ได้ ซึ่งนอกจากรูปแบบการตัดเย็บแล้ว ยังมีวิธีเลือกสูทผู้ชายอีกหลายวิธีที่ทำให้ผู้สวมใส่โดดเด่นมากขึ้นไปอีก
วิธีเลือกสูทให้เหมาะสม และช่วยเสริมให้ผู้สวมใส่มีความสง่ามากยิ่งขึ้น มีดังนี้
สูทที่เลือกควรพอดีกับขนาดร่างกาย โดยสามารถวัดได้จากช่วงไหล่ ความยาวแขน รอบอก เป็นต้น
ควรเน้นโอกาสในการใช้งาน เพราะหากเลือกเพียงความสวยงามแต่ไม่ตอบโจทย์การใช้งานก็ต้องเสียเงินซื้อสูทบ่อยๆ อีกทั้งยังดูไม่เป็นมือโปรหากเลือกสวมสูทไม่ตรงกับโอกาสงานที่ไป เช่น ไปเจรจาทางธุรกิจ แต่สวมสูทสีแดง เป็นต้น
เนื้อผ้าที่ดีจะช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย เมื่อเกิดความสบายใจแล้วก็ทำให้ส่งความรู้สึกมั่นใจออกมาผ่านทางสีหน้า และการแสดงออกได้
ผ้าที่นิยมนำมาใช้ในการตัดสูท คือ ผ้าวูล เพราะให้ความนุ่ม มีความเงา ยืดหยุ่น และยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย แต่นอกจากผ้าวูลแล้วก็มีผ้าชนิดอื่น ๆ อีกเช่นกัน เช่น
ผ้าลินิน มีน้ำหนักที่เบา และระบายอากาศได้ดีเมื่อสวมใส่
ผ้าเสิร์จ เป็นผ้าที่หนาเหมาะสำหรับสูทที่ต้องการความทนทาน เมื่อต้องเสียดสีบ่อย ๆ
ผ้าวาเลนติโน่ มีลักษณะเป็นผ้าลื่น ไม่ยับง่าย คืนตัวได้ดีหลังจากขยับร่างกาย
วิธีเลือกสูทผู้ชายตามเนื้อผ้ามีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น ควรสังเกตว่าตนเองมีไลฟ์สไตล์แบบใด กิจกรรมที่ทำเป็นอย่างไร เพื่อให้สูทที่สวมใส่เหมาะสมกับโอกาสที่ไปมากที่สุด
สูทผู้ชายนอกจากมีดีไซน์หลากหลายแล้ว สียังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้ผู้ที่สวมใส่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากผู้อื่นได้ ดังนั้น จึงขอแนะนำวิธีเลือกสูทผู้ชายตามสี และลายผ้าต่างๆ ที่ถูกนำมาตัดเย็บสำหรับโอกาสที่ต่างกันออกไป ได้แก่
สีคลาสสิก
สูทผู้ชายสีคลาสสิกเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสีที่ง่ายต่อการสวมใส่ร่วมกับไอเทมอื่นๆ ทั้งยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกด้วย โดยวิธีเลือกสูทผู้ชายสีคลาสสิกสามารถทำได้ดังนี้
สูทสีดำ (Black Suit) เป็นสูทคลาสสิกอย่างแท้จริง สามารถใส่ได้ในทุกโอกาส เพราะมีความสุภาพ เพิ่มความน่าเกรงขาม และน่าค้นหาอีกด้วย
สูทสีกรมท่า (Navy Blue Suit) เป็นสีที่ดูสุขุม สุภาพ จะใส่ให้เป็นกึ่งทางการ หรือทางการก็ย่อมได้ เหมาะสำหรับใส่ออกงานทั่วไป
สูทสีน้ำเงิน (Blue Suit) เป็นสีที่ไม่ได้ดูเป็นทางการมาก เหมาะสำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์
สูทสีเทาเข้ม (Dark Grey Suit) เป็นสีที่สื่อถึงความน่าเชื่อถือ มักพบได้บ่อยในวาระการประชุมธุรกิจหรือการทำงาน
สูทสีเทาอ่อน (Dark Grey Suit) ช่วยเสริมให้ลุคมีความซอฟต์ ความน่าเกรงขามลดน้อยลงเล็กน้อยหากเทียบสีเทาเข้ม ให้ความรู้สึกเนี้ยบ สะอาด เหมาะสำหรับงานประชุมต่าง ๆ
สูทสีน้ำตาล (Brown Suit) เป็นโทนสีที่มีความวินเทจ สื่อถึงความอบอุ่น และให้ความรู้สึกถึงความหนักแน่น มั่นคง หากสวมใส่ร่วมกับเสื้อสีขาวก็เข้ากันได้ดี
สูทสีขาว (White Suit) ให้ความรู้สึกสะอาด สง่างาม เหมาะสำหรับการใส่ออกงานเลี้ยง หรือร่วมงานแต่งงาน
สีทางเลือก
นอกจากสูทสีคลาสสิกแล้ว วิธีเลือกสูทผู้ชายอีกวิธี คือ เลือกสวมใส่สูทสีทางเลือก ซึ่งเป็นสีที่ทำให้ดูโดดเด่น มีลูกเล่น และความแปลกใหม่มากขึ้น โดยสีทางเลือก มีดังนี้
สูทสีกากี (Khaki Suit) เป็นสูทโทนสีร้อน จึงเหมาะสำหรับสวมใส่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งทำให้ผู้สวมใส่ดูเป็นคนผ่อนคลาย ขี้เล่น แต่ยังคงความเท่ และสมาร์ตเอาไว้
สูทสีฟ้า (Blue Suit) เป็นสูทที่เหมาะสำหรับหนุ่มๆ ที่ชอบแต่งตัว มีความขี้เล่น เหมาะสำหรับงานเลี้ยงหรือวันเที่ยวสบาย ๆ ก็ดี
สูทสีแดง (Red Suit) เป็นสีที่หนุ่ม ๆ หลายคนกลัวที่จะสวมใส่ อาจด้วยความที่สวมใส่ร่วมกับเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับอื่นๆ ได้ยาก แต่รู้หรือไม่ว่าสูทสีแดง เมื่อสวมแล้วทำให้โดดเด่นมาก ยิ่งเป็นงานเลี้ยงกลางคืนแล้วนั้น สีแดงจะส่องสว่างท่ามกลางความมืดในยามราตรีเลยก็ว่าได้
สูทสีเขียว (Green Suit) เป็นสีที่ดูดีมีเสน่ห์ ทั้งยังซ่อนความลึกลับน่าค้นหาไว้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย เหมาะสำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์ งานพบปะผู้ใหญ่ก็สามารถสวมใส่ได้
สูทสีพาสเทล (Pastel Suit) เป็นสีที่ดูขี้เล่น และหวานที่สุดในบรรดาสีสูททั้งหมด หากอยากเพิ่มความดุดันก็อาจใช้เนกไทที่สีเข้มกว่าตัวสูทได้ โดยสูทสีพาสเทลเหมาะสำหรับงานแต่งงาน หรืองานเลี้ยงฉลองกับเพื่อนฝูง
ลายผ้าที่นิยมของเสื้อสูท
หากใครที่เบื่อกับความเรียบของสี แล้วอยากเพิ่มลูกเล่นให้กับสูทก็มีวิธีเลือกสูทผู้ชายที่ใช้ได้อีกหนึ่งวิธี คือ การเลือกสูทที่มีลายผ้า ซึ่งลายผ้าที่นิยมถักเป็นเสื้อสูท ได้แก่
ลายตาราง (Gingham) เป็นลายที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ให้ความรู้สึกย้อนยุค ดูวินเทจนิด ๆ
ลายตารางใหญ่ (Windowpane) เป็นอีกหนึ่งลายที่ได้รับความนิยม เนื่องด้วยเป็นลายที่ดูเด่นจากเส้นขอบที่ชัดเจน มีลูกเล่นไม่มาก หรือน้อยจนเกินไป
ลายสก็อต (Tartan) เป็นลายที่ถักไขว้กันไปมาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม คล้ายๆ ลายตารางหมากรุก แต่ขนาดของสี่เหลี่ยมเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ลายนี้ทำให้ผู้สวมใส่ดูขี้เล่นเล็กน้อย
ลายก้างปลา (Herringbone) ลายก้างปลาเดินเส้นทอเป็นเส้นตรง แต่สลับด้านกันไปมา คล้ายๆ รูปตัววี เหมือนจะเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความเนี้ยบ และหรูหรา เหมาะกับการเจรจาทางธุรกิจ
ลายตารางหมากรุก (Houndstooth) เป็นลายสูทที่มีความขี้เล่น ไม่เหมาะกับงานทางการ ด้วยลักษณะการถักเป็นลายหมากรุก โดยนำเหลี่ยมของตารางมาชนกันเกิดเป็นลวดลายที่ดูโดดเด่นขึ้นมา
ลายทาง (Pinstripe) เป็นลายที่เดินเส้นทอเส้นด้ายแนวยาวเรียบ ๆ ให้ลุคที่ดูสุขุม เป็นทางการ
ลายทางชอล์ค (Chalk Stripe) เป็นลายที่คล้าย ๆ กับลายทาง แต่ตัวเส้นมีความหนามากกว่า เหมาะสำหรับงานทางการ
ลายผ้าทอสลับตาราง (Glen Check) ให้กลิ่นอายสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ด้วยการทอเส้นด้ายเล็ก ๆ สลับกันไปมาจนเป็นเส้นที่ตัดกันคล้ายรูปตาราง
ลายตาของนก (Bird’s Eye) มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ เรียงแถวกันจนเต็มสูท เป็นได้ทั้งสูททางการ และสูทลำลอง
วิธีเลือกสูทผู้ชายที่สำคัญอีกหนึ่งวิธี คือ การเลือกสูทตามรูปร่างของผู้สวมใส่ ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะสมเพื่อเสริมให้ลุคออกมาดูดี และเหมาะสมมากที่สุด โดยมีวิธีเลือกสูทผู้ชายตามรูปร่างต่าง ๆ ดังนี้
วิธีเลือกสูทผู้ชายรูปร่างใหญ่ ให้พรางหุ่น
ผู้ชายที่รูปร่างใหญ่หากต้องการใส่สูท เพื่อพรางให้รูปร่างดูเพรียวก็สามารถทำได้ โดยมีวิธีเลือกสูทผู้ชายเพื่อพรางหุ่น ดังนี้
เลือกสูทที่เป็นผ้าเนื้อบาง เพราะผ้าที่พลิ้ว ไม่แข็ง และบางเบา ช่วยทำให้คุณแลดูตัวไม่หนา
เลือกผ้าสีเข้ม เทคนิคการเลือกผ้าสีเข้มเป็นวิธีที่นิยมที่สุดของคนรูปร่างใหญ่ เพราะสีดำ หรือสีที่เข้มสามารถกลืน และพรางสายตาได้
เลือกสูทไม่มีลาย เพื่อไม่ให้เป็นจุดนำสายตา เพราะถ้าเลือกสูทที่มีลาย มักทำให้เป็นจุดเด่นนำสายตาให้โฟกัสกับรูปร่างมากยิ่งขึ้น
เลือกสูทที่มีกระดุม 2 เม็ด เนื่องจากเป็นดีไซน์ที่ออกแบบออกมา เพื่อให้รูปร่างดูเพรียวมากขึ้น
เลือกสูทที่มีรอยผ่าเดียว เพื่อไม่นำสายตาให้ไปมองรูปร่างของผู้สวมใส่ อีกทั้งการเลือกสูทที่มีรอยผ่ามากกว่าหนึ่งยังทำให้สะโพกดูใหญ่ และตันอีกด้วย
วิธีเลือกสูทผู้ชายรูปร่างผอมสูง ให้หุ่นมีสัดส่วนขึ้น
ผู้ชายที่รูปร่างผอมสูง หากต้องการสวมใส่สูทให้ดูมีน้ำมีนวลสมส่วนมากขึ้นก็สามารถทำได้ โดยมีวิธีเลือกสูทผู้ชายให้หุ่นมีความสมส่วน ดังนี้
เลือกสูทที่เป็นผ้าเนื้อหนา เพราะผ้าที่หนาจะดูมีน้ำหนัก เมื่อสวมเข้าไปแล้วทำให้คนที่มีรูปร่างผอมดูอวบขึ้น
เลือกผ้าสีอ่อน เนื่องจากผ้าสีอ่อนทำให้สายตาเห็นสิ่งของใหญ่กว่าความเป็นจริง ดังนั้น การเลือกสวมผ้าสีอ่อนจึงช่วยให้ดูสมส่วนขึ้นได้
เลือกสูทที่มีกระดุม 3 เม็ด เพราะสูทแพตเทิร์นนี้ช่วยเสริมให้ผู้สวมที่มีรูปร่างผอมดูหนาขึ้น
เลือกสูทที่มีรอยผ่าเดียว หรือไม่มีรอยผ่า เนื่องจากทำให้เห็นสัดส่วนได้อย่างชัดเจน เพราะสูทมีความเข้ารูป
เลือกกางเกงเอวปกติ เพราะกางเกงที่มีเอวปกติช่วยทำให้รูปร่างดูสมส่วน หากใส่เอวสูงจะยิ่งทำให้สูงมากขึ้น และเมื่อรวมเข้ากับความผอมก็จะทำให้ดูเก้งก้างเป็นอย่างมาก
วิธีเลือกสูทผู้ชายรูปร่างเล็ก ให้ดูตัวใหญ่ขึ้น
รูปร่างแบบสุดท้าย คือ ผู้ชายรูปร่างเล็ก หากต้องการสวมใส่สูทให้ดูสมส่วน หรือและดูตัวใหญ่ขึ้นก็สามารถทำได้ โดยมีวิธีเลือกสูทผู้ชาย เพื่อให้หุ่นใหญ่ขึ้น ดังนี้
เลือกสูทลายทาง การเลือกสูทลายทางแนวขวางช่วยทำให้รูปร่างดูขยายออกด้านข้างตามแนวเส้น ส่งผลให้รูปร่างดูหนามากขึ้น หรือลายทางแนวยาวก็ช่วยหลอกสายตาว่ารูปร่างดูสูงขึ้นเช่นกัน
เลือกสูทที่มีกระดุมเดียว เพราะสูทแพตเทิร์นนี้เหมาะสำหรับผู้ชายตัวเล็ก ซึ่งช่วยเสริมให้ผู้สวมใส่ที่มีรูปร่างเล็กแลดูสมส่วนขึ้น
เลือกสูทที่มีรอยผ่าคู่ เพราะรอยผ่าคู่นี้จะสร้างให้สูทมีมิติ ร่างกายดูขยายใหญ่ขึ้นเวลาขยับกาย
เลือกกางเกงเอวต่ำ เพราะสามารถช่วยพรางสายตา ทำให้ร่างกายแลดูสูงกว่าความเป็นจริง
การแต่งกายด้วยชุดสูทต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆ อย่าง แม้ว่าเป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย แต่ความเล็กน้อยเมื่อมารวมกัน สามารถกลายเป็นจุดใหญ่ที่เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น ดังนั้น วิธีเลือกสูทผู้ชายให้เหมาะสมในทุกๆ รายละเอียด จึงควรพิจารณาองค์ประกอบดังต่อไปนี้
ความยาวแขน (Sleeve Length) ความยาวแขนเสื้อสูทควรอยู่เลยข้อมือลงมาเล็กน้อย เพื่อเผื่อให้เสื้อเชิ้ตโผล่พ้นเสื้อสูทออกมาประมาณ 1 นิ้ว
ช่วงไหล่ (Shoulders) วิธีเลือกสูทผู้ชาย คือ เวลาสวมใส่ หัวไหล่ของเสื้อไม่ควรโผล่ออกมาเกินไหล่จริงเนื่องจากจะทำให้ดูไหล่ตก ไม่สง่า
กระดุมสูท (Button Suits) จำนวนกระดุม และตำแหน่ง สามารถเสริมบุคลิกภาพ และช่วยพรางรูปร่างต่างๆ ได้ ดังนั้น จึงควรเลือกกระดุมสูทให้เหมาะสมตามรูปร่าง
เนกไท (Neck Tie) การเลือกเนกไทสามารถเลือกได้จากขนาด สี และลวดลาย ซึ่งหากเลือกเนกไทได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถช่วยให้ลุคของคุณดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ความยาวแจ็กเก็ต (Jacket Length) ควรมีความยาวที่พอดี ไม่สั้น หรือยาวจนเกินไป ซึ่งความยาวที่เหมาะสม คือ ปลายแจ็กเก็ตควรปิดกึ่งกลางบั้นท้าย
คอเสื้อ (Collar) คอเสื้อเชิ้ตตัวในก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเลือกอย่างพิถีพิถัน เพราะปกคอเสื้อด้านในแบบต่างๆ สามารถสะท้อนบุคลิกที่ต่างกันออกไปได้ นอกจากรูปแบบคอเสื้อแล้ว เนื้อผ้า ขนาดก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยชุดสูทควรมีขนาดที่พอดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป
ความพอดีของกางเกง (Trouser Fit) ควรมีความพอดีกับรูปร่าง ไม่ควรแน่น จนรั้งเป้าเวลาขยับ หรือนั่งเพราะจะสร้างความอึดอัดให้ทั้งผู้สวมใส่ และผู้คนที่มอง
ขากางเกง (Trouser Break) ปลายขากางเกงควรอยู่บริเวณข้อเท้า หรือแตะกับขอบรองเท้าพอดี ไม่ควรสั้นเต่อ หรือยาวจนกองอยู่กับพื้น
นอกจากการเลือกสูทให้เหมาะสมกับรูปร่างของผู้สวมใส่แล้ว การสวมใส่เครื่องประดับก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ และความดูดี โดยเครื่องประดับที่ช่วยให้การสวมใส่สูทดูมีลูกเล่น โดดเด่น และน่าสนใจ มีดังนี้
กำไลข้อมือ กำไลข้อมือที่สวมใส่คู่กับชุดสูท ควรมีความเป็นทางการ เช่น กำไลสเตนเลสสีเงิน เพราะช่วยเสริมให้ลุคมีความน่าเกรงขาม ไม่ติดเล่นจนเกินไป
นาฬิกาข้อมือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุดสูทสุดเนี้ยบต้องมาพร้อมกับนาฬิกาเรียบหรู โดยนอกจากนาฬิกาจะช่วยบอกเวลาแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องประดับเพิ่มความสง่าได้อีกด้วย ซึ่งนาฬิกาที่ดีควรมีฟังก์ชันที่เหมาะสมกับการใช้งาน และมีความสวยงาม
แหวน เป็นอีกหนึ่งไอเทมที่ดีหากเลือกสวมคู่กับสูท เพราะสามารถเพิ่มลูกเล่นให้ดูโดดเด่น แต่ถ้าเป็นงานทางการควรสวมแหวนที่มีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ และดูเรียบ ๆ
เข็มขัด ควรมีสีเดียวกับรองเท้า และนาฬิกา หากชุดสูทมีสีเข้ม เข็มขัดก็ควรเป็นสีเข้มด้วยเพื่อให้ลุคไปในทิศทางเดียวกัน
คัฟลิงก์ ทำหน้าที่เหมือนกระดุมแขนของเสื้อเชิ้ต เหมาะสำหรับผู้ที่มีสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น หรือต้องการเพิ่มลูกเล่นให้สนุกไม่น่าเบื่อ อีกทั้งยังสามารถสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ได้ด้วย เพราะคัฟลิงก์มีลวดลายที่หลากหลาย
วิธีเลือกสูทผู้ชายให้โดดเด่นสามารถทำได้ด้วยการเลือกประเภทสูทให้เหมาะสมกับวาระการใช้งาน เลือกตามดีไซน์ หรือเลือกตามความชอบของผู้สวมใส่ไม่ว่ารูปร่าง ลวดลาย และสีของสูท รวมถึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของชุดสูทอยู่เสมอ ตลอดจนเลือกเครื่องประดับที่เหมาะสม เพื่อเสริมเสน่ห์ โดยวิธีเลือกสูทผู้ชายทั้งหมดที่กล่าวมา หากทำได้อย่างเหมาะสม ตรงกับสไตล์ และบุคลิกของตนเองแล้ว ก็จะทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกมั่นใจ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และช่วยให้คุณกลายเป็นผู้ชายที่โดดเด่นน่าจับตามอง