นาฬิกาน้ำเข้าแก้ยังไง วิธีแก้ปัญหานาฬิกาขึ้นฝ้าทำเองได้ง่ายๆ
ปัญหาชวนปวดหัวที่ผู้ใช้นาฬิกาข้อมือหลายคนเคยเผชิญคือนาฬิกาน้ำเข้า จนทำให้นาฬิกาขึ้นฝ้า หรือมีหยดน้ำเกาะ มองเห็นหน้าปัดไม่ชัด บทความนี้จะมาบอกเล่าสาเหตุว่าน้ำเข้านาฬิกาได้อย่างไรบ้าง จากนั้นแนะนำวิธีการแก้ไขที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง และทิ้งท้ายด้วยการสรุปข้อควรระวังต่างๆ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้นาฬิกาน้ำเข้าได้ ซึ่งน้ำมักจะซึมเข้ามาในส่วนประกอบของนาฬิกา โดยเฉพาะบริเวณขอบหน้าปัด บางครั้งอาจเกิดจากการที่ขอบของนาฬิกามีอายุการใช้งานมานาน เกิดหลวม หรือผ่านการกระแทกซ้ำมาหลายครั้งแล้วแต่ยังฝืนใช้ต่อ หรือหากเปลี่ยนถ่านนาฬิกา แล้วปิดฝาไม่สนิท หรือมีรอยร้าวแม้เพียงเล็กน้อย นั่นก็เพียงพอสำหรับให้น้ำเข้ามาได้แล้ว
การใช้นาฬิกาผิดประเภทก็สามารถทำให้น้ำเข้านาฬิกาได้เช่นกัน โดยตามปกติแล้ว นาฬิกาทั่วไปถูกสร้างมาเพื่อป้องกันละอองน้ำ น้ำจากการกระเด็น และการจุ่มน้ำในช่วงสั้นๆ เท่านั้น หากนำไปสัมผัสน้ำมากเกินไปทั้งๆ ที่ไม่ใช่นาฬิกาประเภทที่กันน้ำได้เต็มที่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำเข้าตามมาแน่นอน ยกตัวอย่าง หากใส่นาฬิกาไปดำน้ำ แต่นาฬิกาที่ใช้ไม่ใช่นาฬิกาสำหรับดำน้ำ หรือ Dive Watch นาฬิกาก็อาจทนแรงดันใต้น้ำไม่ไหว น้ำจึงเข้ามาได้นั่นเอง หรือหากเป็นคนที่ใส่นาฬิกาตลอดเวลา น้ำก็อาจซึมเข้านาฬิกาโดยไม่รู้ตัวจากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อาบน้ำ ล้างจาน ล้างมือ ล้างรถ เป็นต้น
นาฬิกาน้ำเข้ามีผลกระทบตั้งแต่เบาไปถึงหนักสุดเลยก็ว่าได้ อันดับแรกคิอทำให้เกิดฝ้า เนื่องจากเมื่อน้ำเข้าจากด้านหลัง น้ำจะวิ่งหาความเย็น และส่วนที่เย็นที่สุดของนาฬิกาก็คือตัวกระจก ยิ่งเมื่อเราใส่นาฬิกา ความร้อนจากผิวหนังจะไล่น้ำขึ้นมาในรูปแบบของไอน้ำ จนทำให้เกิดฝ้านั่นเอง
ทั้งนี้ บางกรณีที่ไม่เกิดฝ้า ก็จะเห็นเป็นหยดน้ำเล็กๆ แทน กรณีนี้เกิดจากน้ำเข้าทางขอบกระจก เมื่อน้ำเข้าในส่วนที่เป็นความเย็นโดยตรงแล้วจึงไม่เกิดฝ้านั่นเอง ส่วนสาเหตุที่น้ำเข้าทางขอบกระจกได้นั้น อาจจะเกิดจากซีลกันน้ำที่เป็นพลาสติกหลุดออกมา หรืออาจเกิดจากการใช้กระจกที่บางกว่าปกติก็เป็นได้
ส่วนผลกระทบที่ร้ายแรงสุดที่อาจเกิดเมื่อน้ำเข้านาฬิกาก็คือ วงจรภายในนาฬิกาอาจเสียหาย ซึ่งกรณีนี้ อาจจะเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในนาฬิกาแบบดิจิทัล โดยเมื่อตัวแผงวงจรไฟฟ้าด้านในโดนน้ำ ก็จะเกิดสนิมกินวงจรไฟ แผ่นวงจรเสียหาย หรือหากตัวถ่านของนาฬิกาโดนน้ำ ก็อาจเกิดอาการบวม จนดันตัวนาฬิกาหลุดออกจากกันได้ นับว่าเสียหายหนักพอสมควร และอาจทำให้นาฬิกาจากไปในเวลาอันสั้นถ้าไม่รีบซ่อมให้ถูกวิธี
วิธีแก้ไขปัญหานาฬิกาน้ำเข้า และ นาฬิกาขึ้นฝ้าเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร้านซ่อม โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
นับเป็นวิธีที่คลาสสิกสำหรับใครหลายๆ คน ทุกคนคงเคยได้ยินว่า โทรศัพท์น้ำเข้าให้เอาไปแช่ข้าวสาร นาฬิกาน้ำเข้าก็เช่นกัน เพราะข้าวสารจะช่วยดูดความชื้นออกมาจากนาฬิกา จึงช่วยลดอาการฝ้าที่เกิดขึ้นได้
วิธีการคือ เตรียมข้าวสารใส่ถังหรือถ้วยที่ใส่นาฬิกาได้ แล้วนำนาฬิกาฝังลงไปในข้าวสาร กลบข้าวให้มิดนาฬิกา ทิ้งไว้ 3-6 ชั่วโมง หรือทิ้งไว้ข้ามคืน เมื่อนำนาฬิกาออกมา ฝ้าก็จะลดลงหรือหายไป อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่กักเก็บข้าวสาร ถ้าภาชนะใส่ข้าวสารมีความชื้นมาก วิธีนี้ก็อาจจะไม่ได้ผล ดังนั้น ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าถังหรือถ้วยที่ใส่ข้าวสาร รวมไปถึงห้องที่วางถังหรือถ้วยดังกล่าวนั้นมีความชื้นน้อย หรืออากาศเข้าไม่ถึง เพื่อให้วิธีนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อีกวิธีแก้ปัญหานาฬิกาน้ำเข้าที่เห็นผลดีและใช้เวลาไม่มาก คือ การใช้ซองกันชื้น โดยนำเอาเม็ดกันชื้นจากซองกันชื้น ซึ่งอาจหาได้จากซองขนม ถุงขนม หรือกระปุกยา มาใส่ลงในถุงเปล่า หรือถุงร้อน จากนั้นนำนาฬิกาใส่ตาม แล้วมัดปากถุงให้สนิท หรือจะใช้ถุงซิปก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันความชื้นจากข้างนอกเข้าไปข้างใน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซองกันชื้นจะช่วยดูดความชื้นออกจากตัวนาฬิกา ทั้งนี้ ระวังอย่าให้อากาศจากภายนอกเข้า เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมความชื้นลดลง
เมื่อนาฬิกาโดนน้ำ ให้รีบนำผ้าแห้งหรือกระดาษทิชชู่มาเช็ด หรือหาไดร์เป่าผม เป่าอุ่นๆ ประมาณ 5 นาที ทั้งนี้ ต้องระวังอย่าเป่านานเกินไป ไม่ใช้ความร้อนมากเกินไป และต้องระวังอย่าเอาไดร์เป่าผมไว้บนนาฬิกาที่จุดใดจุดหนึ่งนานเกินไป ควรส่ายไปส่ายมาตลอดเวลา เนื่องจากหากลมร้อนจากไดร์เป่าผมค้างอยู่บนนาฬิกาจุดใดจุดหนึ่งนานไป ถึงแม้ความชื้นจะหายไป แต่ก็อาจได้รับความร้อนมากเกินจนนาฬิกาพังอยู่ดี
นอกจากนั้น ยังสามารถแกะฝาหลังออกมา แล้วใช้ไดร์เป่าอ่อนๆ ระบายความชื้นออกจากนาฬิกา เพื่อลดปัญหาการเกิดฝ้าได้เช่นกัน โดยวิธีการแกะฝาหลังนั้นก็ไม่ยาก เริ่มจากสำรวจก่อนว่าฝาหลังของนาฬิกาเป็นแบบใด ซึ่งปกติแล้วฝาหลังจะมีทั้งหมด 3 แบบ แบบขันน็อต แบบงัด และแบบฝาเกลียว เมื่อรู้แล้วให้ใช้อุปกรณ์แกะ ดังนี้
แบบขันน็อต ใช้พวงไขควงไขออก
แบบงัด สามารถใช้เล็บ หรือปลายของแข็งแบนๆ งัดออกได้
แบบเกลียว สามารถหมุนออกมาได้ โดยตัวนาฬิกาจะมีร่องสำหรับหมุนให้ แต่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเช่น ไขควงปากแบน ในการหมุนฝาหลังนาฬิกา เพราะฝาลักษณะนี้จะยึดมาค่อนข้างแน่น
อย่างไรก็ตาม กรณีที่นาฬิกาที่น้ำเข้านั้นมีมูลค่าสูง ไม่แนะนำให้แกะฝาเอง นำเข้าร้านซ่อมจะดีกว่า
แม้ว่าการซ่อมนาฬิกาด้วยตัวเองจะทำได้ไม่ยาก แต่ก็ถือว่าเป็นการซ่อมเบื้องต้น และมีข้อควรระวังอยู่มาก สรุปได้ดังนี้
เมื่อนาฬิกาน้ำเข้า ห้ามนำไปตากแดดเด็ดขาด เพราะอาจจะพังได้ อันที่จริงแล้ว ข้อนี้สำหรับในต่างประเทศ เช่น ประเทศที่มีอากาศหนาวจัด หรือในโซนยุโรป อาจสามารถนำไปตากแดดได้ถ้าต้องการลดความชื้นเมื่อน้ำเข้า เนื่องด้วยแดดในยุโรปมีลักษณะเป็นไออุ่นมากกว่า ในขณะที่ในไทยมักจะร้อนจัด ทำให้นาฬิกาได้รับความร้อนเกิน และอาจทำให้พังได้ในที่สุด
ระวังตอนใช้ไดร์เป่าผมสำหับเป่าไล่ความชื้น ถ้าไฟร้อนเกินไปอาจจะทำให้นาฬิกาพังได้
ระหว่างแกะฝาหลังของนาฬิกา ควรเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง โดยเครื่องมือเบื้องต้นที่ควรใช้ ได้แก่ มีด ไขควงแบน และไขควงสี่แฉกเท่านั้น ห้ามแงะ ห้ามแกะด้วยอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากนั้น นาฬิกาบางรุ่น ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะสำหรับนาฬิกาเรือนนั้น หรือต้องระวังอุปกรณ์เล็กๆ ในนาฬิกาหลุดออกมาระหว่างแกะฝาหลังด้วย
หากไม่มีความชำนาญในการแกะฝาหลังนาฬิกา ไม่ควรแกะฝาหลังเอง โดยเฉพาะนาฬิกาที่มีมูลค่าสูง เพราะหากอุปกรณ์เกิดชำรุดขึ้นมาตอนแกะ อาจไม่มีอะไหล่สำหรับเปลี่ยน ควรศึกษาวิธีการแกะฝาหลังให้ดี หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน
หากลองใช้วิธีแก้น้ำเข้านาฬิกาด้วยตัวเองแล้ว แต่นาฬิกายังไม่หายขึ้นฝ้า อาจเป็นเพราะแก้ไขได้ไม่ตรงจุด เช่น พยายามใช้ไดร์เป่าด้านนอกแล้ว แต่น้ำหรือความชื้นอาจจะยังติดอยู่ในนาฬิกา และจำเป็นต้องแกะฝาหลังออกออกมาก่อนจึงจะแก้ไขได้ หรือเมื่อทำทุกวิธีแล้วแต่ก็ยังไม่หาย นั่นอาจเป็นเพระนาฬิกามีปัญหาจากสาเหตุอื่น แนะนำให้นำนาฬิกาไปหาช่างซ่อมที่เชี่ยวชาญโดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหานาฬิกาหยุดเดินเพราะวงจรเสีย สนิมขึ้น หรือตัวอุปกรณ์ข้างในเกิดความเสียหายจากการงัดแงะ ฯลฯ ให้ช่างได้ตรวจเช็ค แก้ไขให้ทันเวลาดีกว่า
แม้ว่านาฬิกาหลายเรือนจะสามารถกันน้ำได้ หรือแม้ว่าจะมีวิธีซ่อมนาฬิกาน้ำเข้า นาฬิกาขึ้นฝ้าด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ตามวิธีการซ่อมเบื้องต้นที่ได้นำมาฝากกันในบทความนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ควรระวัง อย่าปล่อยให้น้ำเข้านาฬิกาบ่อยๆ เพราะอาจทำให้นาฬิกาเสื่อมสภาพ และมีอายุการใช้งานสั้นลงได้