เปิดตำรา มารยาทบนโต๊ะอาหารสากลที่ควรรู้ และข้อห้ามที่ควรหลีกเลี่ยง
มารยาทบนโต๊ะอาหาร มักเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าสนิทสนมกับเจ้าภาพอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก และมักทำตัวตามสบาย แต่รู้หรือไม่ว่ามารยาทบนโต๊ะอาหารสากลจะช่วยทำให้เรามีเสน่ห์ เป็นการให้เกียรติ และแสดงความใส่ใจให้กับเจ้าภาพได้อย่างดี อีกทั้งงานเลี้ยง หรืองานที่ต้องมีการรับประทานอาหารร่วมกันกับคนหมู่มาก จำเป็นต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาภาพลักษณ์ หรือมารยาทในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ซึ่งมารยาทบนโต๊ะอาหารสากลจะมีอะไรที่ควรทำ หรืออะไรที่ไม่ควรทำบ้าง ไปดูกันเลย
มารยาท คือ กฎ หรือระเบียบที่ควรพึงปฏิบัติภายในกลุ่มคน หรือสังคมหนึ่งๆ ที่เป็นที่ยอมรับ หรือปฏิบัติร่วมกันอย่างเหมาะสม มารยาทบนโต๊ะอาหาร คือ ธรรมเนียม หรือข้อปฏิบัติของการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยยึดถือเป็นมารยาทตามหลักสากลที่ใช้กันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร หรือตามงานเลี้ยงต่างๆ
มารยาทบนโต๊ะอาหารสากลที่ควรรู้ไว้ มีดังนี้
มารยาทเมื่อไปถึงโต๊ะอาหาร สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
มารยาทเมื่อไปถึงโต๊ะอาหาร สิ่งแรกที่ควรทำคือการแนะนำตัวเองกับเจ้าภาพ และอย่าลืมพูดชื่อของคู่สนทนาในการกล่าวทักทาย เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ
หากยืนอยู่ ควรมีมือว่างอย่างน้อยหนึ่งข้างถือเครื่องดื่ม หรืออาหารด้วยมือซ้ายเพียงมือเดียว เพื่อใช้มือข้างขวาในการทักทายกับผู้อื่น
การยื่นมือทักทาย ต้องใช้มือขวายื่นทักทายเพียงแค่ 3-4 วินาทีเท่านั้น
การแนะนำตัว ควรแนะนำบุคคลที่มีอายุน้อยกว่าให้กับบุคคลที่อาวุโสกว่าก่อนเสมอ
ตามมารยาทบนโต๊ะอาหาร หากนั่งอยู่ ควรยืนขึ้น และยื่นมือเพื่อทักทายกับผู้อื่น
หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนสองคนที่กำลังสนทนา หากต้องการแนะนำตัว หรืออยากร่วมการสนทนา ควรรอให้มีจังหวะว่าง เพื่อให้เข้าร่วมการสนทนาได้โดยไม่เสียมารยาท
เมื่อเข้าร่วมการสนทนา ควรสบตากับคู่สนทนา และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคู่สนทนา
หากต้องการขอตัวออกจากการสนทนา หรือคู่สนทนา อย่าลืมที่จะให้ข้อมูลติดต่อของตัวเอง เช่น นามบัตร แก่คู่สนทนาด้วย
การทานอาหารตามมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากล จะเรียงลำดับการใช้อุปกรณ์จากด้านนอกสู่ด้านใน เช่น หากเสิร์ฟสลัดเป็นลำดับแรก ก็ควรใช้ช้อนส้อมที่อยู่ด้านนอกสุดก่อน
หากไม่ได้ทานอาหาร ก็ควรวางช้อนส้อม หรือมีดทานอาหารไว้บนจานเสมอ
นั่งหลังตรง และไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะอาจทำให้ดูหลังงอได้
อย่าวางข้อศอกไว้บนโต๊ะอาหาร
ไม่ควรวางกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ หรือสิ่งของอื่นๆ ไว้บนโต๊ะอาหาร
ไม่เล่นโทรศัพท์ระหว่างทานอาหาร เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ร่วมโต๊ะ และเป็นการเสียมารยาทบนโต๊ะอาหารด้วยเช่นกัน
หลังจากนั่งลงที่เก้าอี้ ให้หยิบผ้าเช็ดปากที่วางอยู่บนจานมาพับครึ่ง และวางผ้าเช็ดปากไว้บนตักเสมอ
การปฏิบัติตามมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากล กรณีที่อาหารเลอะปาก และต้องการใช้ผ้าเช็ดปาก ทำได้โดยการหยิบผ้ามาซับที่ปาก ใช้ผ้าด้านในซับที่ปากเบาๆ ไม่ควรเช็ด หรือถูกปากแรงๆ
หากต้องการลุกจากโต๊ะเพื่อไปทำธุระส่วนตัว ให้วางผ้าเช็ดปากบนเก้าอี้แบบหลวมๆ
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ให้วางผ้าเช็ดปากไว้ที่ด้านซ้ายมือเสมอ
เมื่อเจ้าภาพวางผ้าเช็ดปากไว้บนโต๊ะ หมายความว่า การทานอาหารจบลงแล้ว จากนั้นให้วางผ้าเช็ดปากไว้บนโต๊ะได้เลย
มารยาทในการสั่งอาหาร ไม่ควรเลือกสั่งอาหารในราคาที่แพงที่สุด
ควรเลือกเมนูอาหารที่ทานง่าย เช่น เมนูสลัด เมนูเนื้อ หรือเมนูปลา
หลีกเลี่ยงการสั่งอาหารที่ทานยาก หรือทานแล้วเลอะเทอะง่าย เช่น สปาเกตตี หรือพิซซ่า
กรณีที่ไม่แน่ใจว่าควรสั่งเมนูอะไร สามารถขอคำแนะนำจากพนักงานได้
ควรรอให้พนักงานเสิร์ฟอาหารให้ครบทุกคนก่อน จากนั้นค่อยเริ่มรับประทานอาหาร
กรณีที่พนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มประเภทไวน์ และไม่ต้องการที่จะดื่ม สามารถทำได้โดยการคว่ำแก้วไว้ ถือเป็นมารยาทบนโต๊ะอาหารที่สุภาพ และบอกเพื่อเป็นสัญญาณว่าไม่ต้องการเครื่องดื่ม
มารยาทพื้นฐานบนโต๊ะอาหารเวลารับประทานอาหาร ไม่ควรเคี้ยวอาหารเสียงดัง และไม่ควรพูดคุยระหว่างที่มีอาหารอยู่ในปาก
ควรทานอาหารอย่างช้าๆ และหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำ
หากมีสลัด หรือขนมปัง ควรส่งอาหารไปทางด้านขวาก่อนเสมอ หากเป็นฝ่ายที่เริ่มส่ง ควรยื่นให้คนทางซ้ายมือก่อน จากนั้นหยิบให้ตัวเอง และส่งให้กับคนทางด้านขวาต่อไป ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นมารยาทในโต๊ะอาหารที่ไม่ควรมองข้าม
ชิมอาหารก่อนที่ทำการปรุงรสเสมอ
กรณีมีการขอเกลือ และพริกไทย ให้หยิบเกลือและพริกไทยพร้อมกันเสมอ และวางไว้ข้างหน้าของคนที่ต้องการ
การทานขนมปัง ไม่ควรใช้มีดตัด หรือทานทั้งชิ้น ซึ่งการทานสามารถใช้มือฉีกเป็นชิ้นๆ และใช้มีดเพื่อปาดเนยมาทาที่ขนมปังได้เลย
การทานซุป หากซุปยังร้อนอยู่ ให้ค่อยๆ คนซุป แทนการเป่าด้วยปาก จากนั้นตักซุปให้ออกห่างจากตัว และทานซุปจากด้านข้างของช้อน
หลังทานอาหารเสร็จ ให้วางจานไว้ในตำแหน่งเดิม ไม่ยกจานไปด้านข้าง หยิบออกจากตัวเอง หรือวางจานซ้อนกัน
วิธีวางช้อน ส้อม หรือมีดบนจานตามหลักมารยาทบนโต๊ะอาหาร คือ การวางส้อม และมีดในลักษณะที่คู่กัน วางโดยหันคมมีดเข้าหาตัว และวางส้อมกับมีดในแนวทแยงมุม โดยให้ปลายแหลมชี้มุมตามเลข 10.00 บนนาฬิกา และปลายด้ามจับชี้มุมเลข 04.00
หลังจากรับประทานเสร็จ อย่าลืมที่จะขอบคุณเจ้าภาพด้วยเสมอ
เมื่อได้รู้จักกับมารยาทที่ถูกต้องบนโต๊ะอาหารกันไปแล้ว ต่อมาก็มาดูสิ่งที่ไม่ควรทำที่หลายๆ คนอาจยังทำพลาดกันอยู่ ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
หากมีการส่งอาหารข้ามโต๊ะ หรือส่งสลับกันไปมา จะทำให้เกิดความวุ่นวาย และอาจทำให้อาหารหกเลอะเทอะบนจานของคนอื่นได้ ดังนั้น มารยาทที่ควรทำบนโต๊ะอาหาร เวลาส่งอาหารให้กับเพื่อนร่วมโต๊ะ คือ การส่งอาหารไปทางขวามือ หรือส่งทวนเข็มนาฬิกาเสมอ แต่มีข้อยกเว้น เช่น หากต้องการส่งให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่นั่งถัดไปด้านซ้ายเพียงไม่กี่ที่นั่ง ก็ส่งไปทางซ้ายมือได้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องวนทางขวารอบโต๊ะ
แม้ว่าการหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ในคราวเดียว หลายคนอาจมองว่า จะทำให้สะดวกต่อการรับประทาน แต่ถ้ามองตามเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร สิ่งที่ควรทำในการทานอาหาร คือ ควรหั่นไป และทานไปเท่านั้น เพราะถือเป็นมารยาทที่สุภาพในการทานอาหารมากกว่าการหั่นในครั้งเดียว
การวางผ้าเช็ดปากตามมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบสากลจะไม่วางผ้าเช็ดปากไว้บนโต๊ะ เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ และไม่สะดวกต่อการใช้งาน ทำให้ผ้าเช็ดปากจำเป็นต้องวางอยู่ที่ตักเสมอ รวมถึงเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ควรวางผ้าเช็ดปากไว้ที่ด้านซ้ายของจาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับพนักงานหรือคนอื่นๆ ได้รับรู้
สำหรับมารยาทบนโต๊ะอาหารตามหลักสากล อย่างการวางช้อนส้อมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน หากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะไม่นำช้อนส้อมไปวางรวมกันไว้บนโต๊ะ แต่จะใช้การวางลงบนจานแทน มารยาทบนโต๊ะอาหารเกี่ยวกับการวางช้อนส้อมที่ถูกต้อง ทำได้ 2 แบบ คือ สไตล์คอนติแนนตัล (Continental) โดยวางช้อนส้อมไว้ให้เป็นรูปตัว V กลับหัว ให้มีดอยู่ด้านล่าง หันคมมีดเข้าด้านใน ช้อนส้อมให้วางทับด้านบนมีด และวางช้อนส้อมสไตล์อเมริกัน (American) วางช้อนส้อมเป็นแนวทแยงไปตามมุมขวาด้านบน ให้มีดอยู่ด้านบน หันคมมีดเข้าด้านใน และวางช้อนส้อมขนานไปกับมีด
การเลือกที่นั่งสำหรับรับประทานอาหาร ไม่ควรเลือกที่นั่งด้วยตนเอง เพราะตามธรรมเนียมแล้ว เจ้าภาพมักเป็นคนจัดที่นั่งให้แขกด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อไปถึงที่โต๊ะอาหาร จึงควรปฏิบัติตามมารยาทบนโต๊ะอาหารด้วยการนั่งตามที่ที่ได้จัดไว้ให้
มารยาทที่ไม่ควรทำบนโต๊ะอาหาร คือการใช้โทรศัพท์ระหว่างทานอาหาร เพราะเป็นการรบกวนผู้ร่วมโต๊ะคนอื่น เป็นการดึงความสนใจของตัวเองให้จดจ่ออยู่กับโทรศัพท์ จนทำให้ไม่มีสมาธิพูดคุยกับผู้ร่วมโต๊ะท่านอื่น แต่หากจำเป็นต้องรับสายโทรศัพท์ หรือรอสายธุระสำคัญ ควรปิดเสียงการแจ้งเตือนทั้งหมด และใช้เป็นระบบสั่น รวมถึงการรับโทรศัพท์ ควรลุกออกจากโต๊ะอาหารไปรับสาย เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ร่วมโต๊ะคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อใด หรือตามงานเลี้ยงใดก็ตาม ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนเจ้าภาพ หรือผู้อาวุโส เพราะแสดงถึงความไม่ให้เกียรติแก่เจ้าของงาน จึงทำให้มีข้อธรรมเนียมสำหรับมารยาทในการร่วมโต๊ะอาหารกับเจ้าภาพ โดยให้เจ้าภาพ หรือผู้อาวุโสเป็นคนรับประทานก่อน จากนั้นผู้ร่วมโต๊ะค่อยเริ่มรับประทาน
หากไม่เตรียมความพร้อมก่อนการร่วมโต๊ะ และลุกไปที่อื่นบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นการเสียมารยาทต่อผู้ร่วมโต๊ะอาหาร ทางที่ดีควรเตรียมความพร้อมของตัวเองให้ดีก่อน เพื่อให้มื้ออาหารดำเนินได้อย่างไม่มีอะไรติดขัด แต่หากจำเป็นต้องลุกออกไป ก็ให้ขอตัวกับเจ้าภาพ หรือผู้ร่วมโต๊ะอย่างสุภาพ พร้อมกับลุกไปทางด้านขวามือของเก้าอี้ วางผ้าเช็ดปากไว้ที่ข้างจาน และเมื่อกลับมาที่โต๊ะ ให้ยกเก้าอี้ และเดินเข้าทางขวามือของเก้าอี้เพื่อนั่งต่อได้เลย
บทสนทนาบนโต๊ะอาหารมักเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคนที่นั่งใกล้กัน หรือพูดคุยกับเจ้าภาพ ดังนั้น การมีมารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดี จึงไม่ควรขัดจังหวะบทสนทนาของผู้อื่น เช่น การเคี้ยวเสียงดัง การพูดคุยเสียงดังโดยไม่สนใจคนรอบข้าง นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะมีบทสนทนากับคนรอบข้างด้วยการยิ้ม หรือสบตาระหว่างพูดคุย เพื่อให้บรรยากาศบนโต๊ะอาหารเป็นไปด้วยความราบรื่น
มารยาทบนโต๊ะอาหาร คือ ธรรมเนียม หรือข้อปฏิบัติ สำหรับการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการปฏิบัติตามมารยาท ถือเป็นสิ่งที่ให้เกียรติ แสดงความสุภาพ และแสดงถึงความใส่ใจต่อผู้ร่วมรับประทานอาหาร ดังนั้นเมื่อมีสิ่งที่ควรทำแล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ควรทำบนโต๊ะอาหารด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าการทานอาหารแต่ละครั้ง เป็นการทานอาหารร่วมกับคนหมู่มาก หากแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม อาจทำผู้ร่วมโต๊ะเกิดความกระอักกระอ่วนใจ และทำให้เสียบรรยากาศในการรับประทานอาหารได้
นอกจากมารยาทบนโต๊ะอาหารแล้ว การแต่งกายให้เข้ากับสถานที่ที่เราไปรับประทานอาหารเอง ก็ถือเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพได้เช่นกัน ควรแต่งการให้ถูกกาลเทศะ ไม่มากไปไม่น้อยไป ควรเลือกใส่เครื่องประดับอย่างนาฬิกา สร้อยคอ แหวน หรือต่างหูให้เข้ากับเสื้อผ้าที่ใส่ไปรับประทานอาหาร ก็เป็นตัวช่วยในการแสดงออกถึงความใส่ใจในการแต่งตัว และการให้เกียรติเจ้าภาพได้เป็นอย่างดี